บ้านปูจัด Business Pitching เชื่อมโยงSE-นักลงทุนหนุนภาคธุรกิจโต

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

“บ้านปู” ประเดิมจัด “บิสซิเนส พิชชิ่ง” เชื่อมผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม และนักลงทุน หนุนภาคธุรกิจโตได้อีกขั้น สู่การสร้าง “พลังเปลี่ยนแปลงสังคม” ที่ยั่งยืน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion จัดกิจกรรมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ศักยภาพสูงกับเครือข่ายนักลงทุน-พันธมิตรทางธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริม SE กว่า 20 ราย อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งแรกเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนเพื่อการเติบโตขึ้นอีกขั้น พร้อมเสริมแกร่ง SE Ecosystem ไทยสู่การสร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคมที่ยั่งยืน

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
การส่งเสริม SE ให้เดินหน้าต่อไปได้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ SE ในประเทศเรายังต้องการการสนับสนุน แต่อาจยังเป็นช่องทางที่ถูกมองข้ามไปด้วยปัจจัยภายนอกหลายประการ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Banpu Champions for Change ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ ดังนั้นในปีที่ 11 นอกเหนือจากโปรแกรมการบ่มเพาะ SE ระยะเริ่มต้นแล้ว เราจึงตั้งอีกหนึ่งกิจกรรมชื่อ Acceleration Program ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายการเติบโตของ SE ที่ได้ดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่ง มีที่มาของผลกำไรชัดเจน และต้องการสร้างการเติบโตขึ้นไปอีกขั้น

ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการคัดเลือก 6 กิจการที่ผ่านเข้ารอบเพื่อเข้ารับคำปรึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการจากทีมผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่ตอบโจทย์กับประเด็นของกิจการต่าง ๆ รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในแบบที่จำเพาะเหมาะสมกับแต่ละกิจการ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งภายใต้ Acceleration Program ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SE ทั้ง 6 กิจการและผู้ลงทุนได้ทำความรู้จัก และเชื่อมโยงกันซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงโอกาสในการเติบโตในธุรกิจทั้งของผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ SE เอง

สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 กิจการ ประกอบด้วย ‘อาชีฟ’ (a-chieve) แพลตฟอร์มแนะเส้นทางอาชีพเด็กไทย ‘ยังแฮปปี้’ (YoungHappy) แอปพลิเคชันสร้างสุขของวัยเกษียณ ‘บั๊ดดี้โฮมแคร์’ (Buddy Homecare) แอปพลิเคชันอาสาสมัครดูแลสูงวัย ‘อูก้า’ (OOCA) แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาสุขภาพจิต ‘โนบูโร’ (Noburo) แพลตฟอร์มสวัสดิการแก้หนี้พนักงาน และ ‘มอร์ลูป’ (moreloop) แพลตฟอร์มฝากขายผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมแฟชั่น

นายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มฝากขายผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ‘มอร์ลูป’ (moreloop) กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้รับการคัดเลือกว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่โปรแกรม Acceleration ของบ้านปู รวมถึงนักลงทุนมองเห็นถึงศักยภาพของ moreloop ที่ตรงกับเงื่อนไขกิจกรรมเพื่อเข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจให้เติบโตได้อีกขั้น ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ตนมีแผนขยายทีมทำงาน และปรับปรุงระบบการทำงานให้สามารถรองรับการทำการตลาดเชิงรุก โดยเน้นการจัดจำหน่ายผ้าส่วนเกิน และรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มมากขึ้น

การจัดกิจกรรม Business Pitching ของบ้านปู ถือเป็นอีกหนึ่งสนามสำคัญที่ช่วยในการฝึกฝนทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ สร้างคอนเนคชันที่ดีระหว่างผู้ประกอบการกับนักลงทุน และ ระหว่างนักลงทุนกับนักลงทุนด้วยกัน หรือกระทั่งนักลงทุนบางรายยังได้ทำความรู้จักกับกิจการ SE อื่นๆ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SE Ecosystem ไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บ้านปู พร้อมด้วยสถาบัน ChangeFusion เตรียมจัดงาน “อิมแพ็ค เดย์” (Impact Day) ภายใต้แนวคิด “Impact Day 2022: Maximize the Impact ผนึกเครือข่าย ขยายพลัง SE” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำโดยผู้เชี่ยวชาญการตลาด นักลงทุน และผู้ประกอบการธุรกิจ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ